บ้านยะพอ เดิมทีบริเวณที่ตั้งบ้านยะพอ เป็นบริเวณป่าไม้ไม่เคยมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่เลย จนกระทั่งประมาณช่วง พ.ศ. 2480 ได้มีนายแยะพอ ชาวปกาเกอญอ ได้ย้ายครอบครัวมาจาก บ้านแม่ละมุ้งคี ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง มาอาศัยอยู่บริเวณบ้านแม่ออกฮู โดยมีแม่ พี่ชายและน้องชาย รวม 4 คน ในระหว่างนั้นก็ได้สร้างกระท่อม 1 หลัง และได้ทำคอกเลี้ยงช้างนำช้างมาเลี้ยงในบริเวณป่าด้านทิศตะวันออกนี้ด้วย (ปัจจุบันคือบ้านยะพอ)
ต่อมาประมาณ 1-2 ปี ได้มีโจรเข้ามาปล้นบ้าน ในขณะที่นายแยะพอได้ออกไปเลี้ยงช้าง คุณแม่ออกไปเก็บหาของป่า เหลือเพียงแต่น้องชาย 2 คนที่อยู่ที่บ้าน ถูกโจรปล้นบ้าน และได้ยิงต่อสู้กันจนทั้งสองได้เสียชีวิตลงไป นายแยะพอกับมารดา จึงได้อพยพย้ายไปยังหมู่บ้านพะดี (ทิศเหนือของยะพอปัจจุบัน ประมาณ 15 กิโลเมตร) แต่ก็ยังกลับมาเลี้ยงช้างที่เดิม ขณะที่อาศัยอยู่ที่บ้านพะดีนั้นนายแยะพออายุประมาณ 20 ปี ก็ได้แต่งงานกับนางอีแอะ และได้มีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยมีผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 1 คน คนที่ 1 คุณยายก้อเมย คนที่ 2 คุณยายน่อต่อ และคนที่ 3 คุณตาผดุงศักดิ์
ในขณะนั้นประมาณปี พ.ศ.2485 คุณยายน่อเบย อายุได้ 4 ขวบ คุณยายน่อเตอะ อายุได้ 2 ขวบ และคุณตาผดุงศักดิ์ อายุได้ ประมาณ 3 เดือน มารดาของนายแยะพอได้เสียชีวิตลง ที่บ้านพะดี นายแยะพอ และนางอีแอะ จึงได้ตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ที่ป่าเลี้ยงช้าง (บริเวณบ้านยะพอปัจจุบัน) ได้เข้ามาอยู่อาศัยอย่างถาวร และได้มีญาติพี่น้องอีก 2 ครอบครัวได้ย้ายติดตามกันมาด้วย ได้แก่ ครอบครัวของคุณยายเซเข่ และครอบครัวของคุยายเนาะเหมี่ยโม และได้แผ่วถางป่าใช้เป็นที่ทำนา ปลูกข้าว ปลูกผักเลี้ยงชีพ
จากนั้นได้มีผู้คนได้ทยอยเข้ามาขออยู่อาศัยด้วย คุณตาแยะพอจึงได้จัดสันปันส่วนพื้นปลูกบ้านและทำนาให้กับผู้คนที่ได้ขอย้ายอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย จนมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านเล่อเขราะ" แปลว่า บริเวณที่มีหินวางกองรวมกันซ้อนทับกันอยู่ หรือภูเขาที่มีหินซ้อนทับเป็นชั้นๆ (บริเวณที่กล่าวมานั้นคือ บริเวณเยื้องโรงเรียนทางขวามือของประตูเข้าโรงเรียน บ้านของคุณป้ายาโล) และได้มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกอย่างไม่เป็นทางการ คือ คุณพ่อซวยอ่อง หรือ มีชื่อเรียกฉายากันเล่นๆว่า ปู่กะบ่าถั่ว แปละว่าหักถั่ว (เป็นคนที่ชอบกินถั่วฝักยาวและเวลาที่มีใครมาถามว่าทานข้าวกับอะไรเขาก็จะบอกว่ากินกับถั่วตลอด) คนที่ 2 อย่างไม่เป็นทางการ คือ นายคึปา
ประมาณปี พ.ศ. 2499-2501 ทางการอำเภอแม่สอดได้เข้ามาจัดขึ้นทะเบียนหมู่บ้าน จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นโดยชาวบ้านในตอนนั้นเรียกชื่อเดิมอยู่แล้วว่า "บ้านเล่อเขราะ" แต่เนื่องจากเป็นภาษาปกาเกอญอทำให้ออกเสียงยาก ทางการจึงให้เอาชื่อคนที่เข้ามาอยู่คนแรกก็คือคุณพ่อแยะพอ จึงได้ให้ทางการตั้งว่า "บ้านแยะพอ" แต่คำว่าแยะพอเวลาพูดพูดยากและเขียนยากอีก จึงเปลี่ยนจากแยะพอ ให้เป็น "บ้านยะพอ" ซึ่งเรียกและเขียนง่ายกว่าเล่อเขราะ กับแยะพอ และทั้งนี้ คำว่า "ยะพอ" และคำว่า "ยะ" ยังสอดคล้องกับพระราชสัญญานาม "พระปิยมหาราช" (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นชื่อมงคล ผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านจึงยินดีและตกลงใช้ชื่อหมู่บ้านของตนว่า "บ้านยะพอ" และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการคนแรก คือ นายบุญมี ทรงคุณธรรม นับตั้งแต่นั้นจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านยะพอ" มาจนถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อได้จัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้วในราวปี พ.ศ.2501 ได้ก่อสร้างโรงเรียนบ้านยะพอขึ้น และเปิดเรียนอย่างเป็นทางการประมาณ พ.ศ.2501 และได้มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายผดุงศักดิ์ ภักดีคุณธรรม คนที่ 3 นายอิทธิภัทร์ เขื่อนแก้ว (อดีตกำนันตำบลวาเล่ย์) และคนที่ 4 ปัจจุบัน นายสุพจน์ อริยะรุ่งโรจน์
ปัจจุบัน "บ้านยะพอ" ตั้งหมู่บ้านมาได้แล้ว 71 ปี (พ.ศ.2560)
**ข้อมูลเพิ่มเติม การขอขึ้นทะเบียนหมู่บ้าน http://pab.dopa.go.th/mmenu1.html#village
**ข้อมูลตำบลแม่ละมุ้ง และบ้านแม่ละมุ้งคี http://www.widebase.net/widetour/tour_area/tak/umphang/umphang_village/umphang_village_mmung.shtml
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น